วันศุกร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2557

บานชื่น : แด่ความสดชื่น เบิกบาน ในเดือนแห่งความรัก

   เดือนกุมภาพันธ์เวียนกลับมาอีกครั้งหนึ่งตามวัฏจักรของกาลเวลา สำหรับคนไทยรุ่นใหม่ในยุคโลกาภิวัตน์นี้ เดือนกุมภาพันธ์เป็นเดือนพิเศษยิ่งเดือนหนึ่ง ในรอบปีที่พิเศษมิใช่เพราะเป็นเดือนเดียวที่มีจำนวนวันน้อยที่สุดในรอบปี คือ ไม่ถึง ๓๐ วัน และยิ่งกว่านั้นจำนวนวัน ยังไม่แน่นอนตายตัวอีกด้วย เนื่องจากทุกๆ ๔ ปี จะเปลี่ยนจาก ๒๘ วัน เป็น ๒๙ วัน (ดังเช่นในปี พ.ศ. ๒๕๔๗ นี้) จนทำให้เกิดคนพิเศษจำนวนหนึ่ง ซึ่งมีโอกาสฉลองครบรอบวันเกิดได้เพียงครั้งเดียวในรอบ ๔ ปี นั่นคือคนที่เกิดในวันที่ ๒๙ กุมภาพันธ์นั่นเอง แต่สำหรับคนไทยรุ่นใหม่แล้ว ความพิเศษของเดือนกุมภาพันธ์ไม่ได้อยู่ที่จำนวนวัน แต่อยู่ที่วันแห่งความรัก คือ วันนักบุญ วาเลนไทน์ ซึ่งคนรุ่นใหม่ทั่วโลกจำนวนมาก ถือว่าเป็นวันแห่งความรักกันอย่างจริงจัง มีการมอบของขวัญต่างๆ (เช่น ดอกไม้ ช็อกโกแลต เป็นต้น) บัตรอวยพร หรือข้อความผ่านเครื่องมือสมัยใหม่ เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือกันอย่างแพร่หลาย จนกระทั่งเกิดปรากฏการณ์พิเศษ เช่น ดอกไม้ (โดยเฉพาะกุหลาบสีแดง) ขาดตลาดหรือมีราคาแพงขึ้นหลายเท่า โทรศัพท์มือถือใช้ติดต่อสื่อสารไม่ได้ หรือได้ไม่สะดวก ตลอดวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์

    คอลัมน์ต้นไม้ใบหญ้าที่กำลังนำเสนอเรื่องราวของดอกไม้ในเมืองไทยชนิดต่างๆ จึงขอถือโอกาสเชื่อมโยงดอกไม้ ที่จะกล่าวถึงในเดือนกุมภาพันธ์นี้เข้ากับเทศกาลวันแห่งความรักของคนรุ่นใหม่ด้วย โดยจะนำเอาดอกไม้ที่มีคุณสมบัติและคำเรียกชื่อสอดคล้องกัน คุณลักษณะของความรักที่พึงปรารถนา ซึ่งผู้เขียนเลือกดอกไม้ธรรมดาสามัญที่คนไทยส่วนใหญ่รู้จักดีมานำเสนอ นั่นคือ บานชื่น

บานชื่น : ขอบฟ้ามิอาจขวางกั้น
บานชื่นเป็นไม้ล้มลุกขนาดเล็ก มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Zinnia eleyans Jacy อยู่ในวงศ์ Compositae เป็นพืชใบเลี้ยงคู่ สูงประมาณ ๖๐ เซนติเมตร ลำต้นมีช่อง กลวงภายใน ผิวลำต้นสีเขียวมีขนอ่อนปกคลุม แตกกิ่งก้านสาขาน้อย ใบเดี่ยวขนาดใหญ่ รูปใบหอก โคนใหญ่มนปลายแหลม สีเขียวมีขนอ่อนปกคลุม ก้านใบสั้น มากจนอาจเรียกได้ว่าไม่มีก้านใบ ใบออก ตรงข้ามกันเป็นคู่ๆ จากลำต้น หรือกิ่งก้าน ดอกเป็นดอกเดี่ยวออกตรงปลายยอด หรือปลายกิ่งก้าน ดอกขนาดใหญ่มีกลีบกระจายออกจากศูนย์กลางเป็นวงกลม มีทั้งกลีบชั้นเดียวและหลายชั้น กลีบดอกมีสีต่างกันมากมาย เช่น ขาว ครีม เหลือง ส้ม ม่วง แดง เป็นต้น และหลายสีในดอกเดียวกัน ตรงกลางดอกเป็นกระจุกเกสรตัวผู้และตัวเมีย เห็นเป็นกลุ่มสีเหลืองอยู่ตรงกลางดอก เมื่อกลีบดอกโรยจะเหลือกลุ่มเมล็ดสีน้ำตาลดำอยู่บนก้านดอก รูปทรงคล้ายเมล็ดทานตะวันแต่แบนกว่า แต่ละดอกอาจติด เมล็ดได้หลายสิบเมล็ด แต่บางส่วนก็เป็นเมล็ดลีบนำไปเพาะขยายพันธุ์ไม่ได้

บานชื่นเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดดั้งเดิมอยู่ในทวีปอเมริกาเหนือ บริเวณตอนใต้ของประเทศสหรัฐอเมริกา และบริเวณประเทศเม็กซิโกในปัจจุบัน จากนั้นจึงแพร่กระจาย ไปปลูกทั่วโลก เป็นดอกไม้ที่ชาวโลกรู้จักดีชนิดหนึ่ง โดยเฉพาะในเขตร้อน และกึ่งร้อนที่เหมาะสำหรับปลูกบานชื่น บานชื่นเข้ามาในประเทศไทยตั้งแต่ เมื่อใดไม่มีปรากฏเป็นหลักฐาน แต่คงในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นี้เอง เพราะไม่พบในวรรณคดีสมัยอยุธยา และสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ตลอดจนไม่พบในหนังสืออักขราภิธานศรับท์ของหมอปรัดเล พ.ศ. ๒๔๑๖ สันนิษฐานว่าในปี พ.ศ. ๒๔๑๖ บานชื่นยังไม่มาถึงประเทศไทย หรือยังไม่เป็นที่รู้จักทั่วไป บานชื่นจึงคงมาปลูกในประเทศไทยไม่เกิน ๑๐๐ ปี แต่กลายเป็นดอกไม้สามัญที่คนไทยทั่วไปรู้จักกันดี และนิยมปลูกกันมากไม่แพ้ดอกไม้ยอดนิยมชนิดอื่นๆ เพราะปลูกง่าย โตเร็ว แข็งแรง ทนทาน มีมากมายหลายสี ขยายพันธุ์ได้ง่ายด้วยเมล็ด นอกจากนี้ ยังมีชื่อที่เป็นคำไทยแท้มีความหมายเป็นมงคล ทั้งคำว่า บาน ที่หมายรวมถึง เบิกบาน ผลิบาน แย้มบาน รวมถึงความสุข เช่น หน้าบาน เป็นต้น ส่วนคำว่า ชื่น หมายถึง ความสดชื่น ชื่นชม ชื่นใจ ชุ่มชื่น ชื่นเย็น เป็นต้น ล้วนแต่เป็นลักษณะที่พึงปรารถนาทั้งสิ้น








ที่มา : http://www.doctor.or.th/



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น